- Wisdom / Impacted teeth -
หลายคนคงสงสัยว่า ฟันคุด คืออะไร และจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ ต้องบอกเลยว่าฟันคุดจะเกิดขึ้นหลังจากฟันน้ำนมและฟันแท้ขึ้นหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และฟันคุดนับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่หลายคนต้องพบเจอ เพราะจะมีอาการปวดฟันบางคนก็ปวดน้อย บางคนก็ปวดมาก ซึ่งส่งผลต่อชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนต้องทำการผ่าฟันคุดออกไปเพื่อจบปัญหาตรงนี้ ทาง สไมล์ดีไลท์ จะพาทุกคนไปคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับฟันคุดในหลายๆ มิติ เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับฟันคุดมากขึ้น รวมไปถึงหนทางการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาฟันคุดกับตัวเองได้อย่างเหมาะสม
สรุปหัวข้อสำคัญ ฟันคุด
ฟันคุดคืออะไร มีลักษณะอย่างไร
ฟันคุด (Impacted Tooth, Wisdom Tooth) คือ ฟันที่เกิดขึ้นมาเมื่อมีอายุประมาณ 18 – 25 ปี โดยจะขึ้นที่ด้านในฟันซี่สุดท้ายบริเวณฟันกรามทั้งด้านบนและด้านล่าง เท่ากับว่าใน 1 คน จะมีฟันคุดมากถึง 4 ซี่ ซึ่งอาจจะพบกันได้ทุกคนและมีการเบียดกับฟันที่อยู่ข้างๆ ในลักษณะที่ผิดปกติคือขึ้นเบียดเฉียงบ้าง ขึ้นเป็นแนวราบ หรือฝังตัวอยู่ใต้กระดูกขากรรไกรโดยที่ไม่สามารถที่จะขึ้นมาในช่องปากได้ หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้รู้สึกปวด และเกิดปัญหาสุขภาพในช่องปากตามมาภายหลังอีกมากมาย
เรื่องน่ารู้ ฟันคุด มีกี่แบบ
เมื่อได้รู้จักเกี่ยวกับฟันคุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ต้องบอกว่าชนิดของฟันคุดก็มีหลากหลายแบบเหมือนกัน และแต่ละคนก็มักจะไม่เหมือนกัน อีกทั้งใน 1 คน อาจมีฟันคุดหลายชนิดก็เป็นได้ ลักษณะเบื้องต้นคือ ฟันคุดที่มีการขึ้นออกจากเหงือกได้บางส่วน รวมไปถึงฟันคุดที่ไม่สามารถที่จะขึ้นออกมาได้จึงมีการฝังตัวอยู่ภายในเหงือก โดยชนิดของฟันคุดมีดังนี้
ฟันคุดชนิดที่ล้มไปทางด้านหน้า
ลักษณะของฟันคุดชนิดนี้เมื่อได้มีการขึ้นมาในช่องปาก ก็จะมีการเคลื่อนไปจนเบียดกับฟันซี่หน้า ซึ่งฟันคุดชนิดนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นมาพ้นเหงือก หรือบางซี่ก็อาจจะถูกเหงือกปกคลุมอยู่ก็ได้ มักจะต้องทำการผ่าออก
ฟันคุดชนิดที่มีการวางตัวในแนวราบ
ลักษณะของฟันคุดชนิดนี้ จะมีการขึ้นมาเป็นแนวนอน ซึ่งชนิดนี้มักจะมีการฝังตัวอยู่ในเหงือก หรือใต้แนวของกระดูก โดยอาจมีหรือไม่มีส่วนของฟันโผล่ขึ้นมาพ้นเหงือกก็ได้
ฟันคุดชนิดที่ตั้งตรง
ฟันคุดชนิดนี้จะสามารถขึ้นพ้นเหงือกออกมาได้บางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งลักษณะของฟันคุดชนิดนี้ก็จะตั้งตรงปกติเหมือนฟันทั่วไป ทำให้ผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับฟันคุดชนิดอื่นๆ ถือว่าส่งผลกระทบน้อยมาก บางคนอาจไม่จำเป็นต้องเอาออกก็ได้
ฟันคุดชนิดที่มีการล้มไปทางด้านหลัง
ลักษณะฟันคุดชนิดนี้จะมีการขึ้นมาแล้วเอนไปทางด้านหลัง ซึ่งอาจจะมีการพ้นเหงือกออกมาบางส่วน หรืออาจจะมีการฝังอยู่ในเหงือกหรือในแนวใต้กระดูกก็ได้
สำหรับชนิดของฟันคุดทั้ง 4 แบบ นับว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนอาจพบเจอ หากพบว่าตนเองมีฟันคุดในช่องปากแล้ว ควรเข้ารับการตรวจกับทันตแพทย์เพื่อตรวจดูสภาพและทำการ X-ray เพื่อระวังความผิดปกติที่อาจซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว และถ้าหากมีอาการปวดเมื่อไรก็อาจจะถึงเวลาที่ต้องวางแผนเตรียมผ่าฟันคุดกันแล้ว ถ้าหากฟันคุดของใครขึ้นเป็นแนวตรงต้องบอกว่าโชคดีมากๆ เพราะอาจไม่จำเป็นต้องผ่าฟันคุดนั่นเอง
สาเหตุของการเกิดฟันคุดมีอะไรบ้าง
ฟันคุดติดอยู่ใต้แนวกระดูก หรือติดอยู่ใต้เหงือก
สาเหตุของการเกิดฟันคุดชนิดนี้ เกิดจากเหงือกบางคนหนามากจนเกินไป หรือมีส่วนของกระดูกขวางการขึ้น จึงทำให้ฟันขึ้นไม่ได้หรือมีการขึ้นในทิศทางไม่ปกติ
ฟันคุดขึ้นได้ปกติ แต่ขึ้นไม่ตรง
สาเหตุของฟันคุดเกิดจากการขึ้นพ้นเหงือกได้ตามปกติ แต่อาจจะมีแนวการขึ้นที่ไม่ตรง จนทำให้ส่วนของฟันไปชนเข้ากับฟันซี่อื่นๆ ก็เป็นสาเหตุของการเกิดฟันคุดได้
เกิดจากช่องปากมีพื้นที่ว่างไม่เพียงพอ
เมื่อถึงเวลาที่ฟันคุดจะต้องขึ้น แต่เกิดพบว่าพื้นที่ในช่องปากไม่พอ จึงทำให้ฟันคุดไม่สามารถโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาได้
ลักษณะของฟันคุดเมื่อไหร่ถึงเวลาที่ต้องผ่าออก
ถ้าทุกคนอ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องผ่าฟันคุดหากมีการขึ้นตรงตามแนวฟันปกติ แต่ถ้าหากฟันคุดขึ้นผิดทิศทางตามสาเหตุที่ได้กล่าวไปนั้น ทีนี้ก็ต้องติดตามอาการอื่นๆ ตามมา หากพบว่ามีอาการดังด้านล่างนี้ อาจถึงเวลาที่จะต้องผ่าตัดเอาฟันคุดออก โดยมีวิธีการสังเกตดังนี้
- อาการปวดฟันบริเวณกรามด้านในสุดอยู่ในตำแหน่งของฟันคุด
- มีเหงือกบวมแดง อาจจะเกิดเป็นแผล หรือเป็นหนอง บางรายมีอาการเฉพาะในช่องปาก กรณีที่มีการบวมมากอาจสังเกตได้ที่บริเวณใบหน้าร่วมด้วย
- ลักษณะของฟันคุดมีการเรียงตัวของฟันผิดปกติ โดยจะเห็นฟันที่ขึ้นซ้อนกันหรือเบียดกัน ซึ่งฟันที่อยู่ใกล้เคียงอาจจะเกิดการโยกหรือผุ รวมถึงเห็นฟันที่ยื่นออกมาจากแนวฟันเดิม
- สำหรับบางคนก็อาจเกิดอาการปวดศีรษะร่วมด้วย รวมไปถึงเมื่ออ้าปากแล้วก็จะมีอาการเจ็บปวด อ้าปากได้น้อยกว่าปกติ ในรายที่เป็นมากอาจส่งผลต่อการกลืนและการหายใจ
ถ้าหากพบอาการดังกล่าวแนะนำว่าให้รีบเข้ารับการปรึกษากับทางทันตแพทย์จะเป็นการดีที่สุด หากมีอาการเจ็บปวดต่างๆ ในช่องปากที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากอะไร ขอแนะนำให้เข้าไปรับการตรวจและเอกซเรย์ เพื่อให้มั่นใจว่าฟันคุดนั้นยังไม่สร้างปัญหาให้กับเราได้ในอนาคต
ปวด ฟันคุด มาก กินยาช่วยได้ไหม
เมื่อมีอาการปวดฟันคุด สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องบอกว่าเป็นแค่การบรรเทาอาการ ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ที่สาเหตุโดยตรง ถ้าหากมีการปล่อยไว้ก็อาจจะทำให้เกิดการลุกลามเป็นการปวดฟันที่รุนแรงจนถึงขั้นมีอาการบวม รวมไปถึงการติดเชื้อเข้าสู่บริเวณใบหน้าและลำคอ ทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ผ่าฟันคุดออก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดตามมาภายหลัง ดังนั้นหากเกิดอาการปวดฟันคุด ควรติดต่อพบทันตแพทย์โดยทันที
เกิดอาการปวด ฟันคุด แล้วนอนไม่หลับ ต้องทำอย่างไร?
สำหรับอาการของฟันคุดเมื่อเกิดอาการปวดฟันคุดจนนอนไม่หลับ นับว่าเป็นสัญญาณเตือนว่ามีการติดเชื้อแล้ว อันดับแรกที่ควรจะทำก็คือการรีบมาพบทันตแพทย์ทันที เพื่อที่จะผ่าฟันคุดที่เป็นสาเหตุออก จะทำให้อาการปวดฟันคุดทุเลาลง โดยการรักษาร่วมกับการรับประทานยาแก้ปวด และยาฆ่าเชื้อ ซึ่งแน่นอนเลยว่าหากแก้ปัญหาตรงจุด เมื่อมีการรักษาที่ดีจะสามารถนอนหลับได้สบายอย่างแน่นอน แต่ในบางรายที่มีอาการปวดและบวมมากและหรือร่วมกับการมีหนอง ทัตแพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาอาการก่อน หลังจากนั้นรอประมาณ 3 – 4 วัน จึงทำการนัดเพื่อผ่าฟันคุดออก
ทำไมต้องเอาฟันคุดออก ฟันคุดทำให้เกิดอะไรได้บ้าง
การมีฟันคุดที่ขึ้นผิดทิศทาง นอกจากทำให้เกิดการปวดหรือติดเชื้อแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องผ่าฟันคุดด้วยเช่นกัน ซึ่งเรียกว่าเป็นวิธีการรักษาที่หวังผล เพื่อที่จะเป็นการป้องกันปัญหาช่องปากอื่นๆ ตามมาด้วยดังต่อไปนี้
ช่วยป้องกันปัญหาฟันผุ
การผ่าฟันคุดจะเป็นตัวช่วยป้องกันปัญหาฟันผุได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการขึ้นของฟันคุดจะมีการขึ้นบริเวณที่ติดกับซอกฟันกราม ซึ่งเป็นจุดที่สามารถทำความสะอาดได้ยากมากๆ มีโอกาสสูงที่จะทำให้เศษอาหารเข้าไปติดจนทำให้เกิดฟันผุได้ ซึ่งมักจะเกิดฟันผุกับฟันซี่ฟันคุดและฟันข้างเคียง
ช่วยป้องกันปัญหาการอักเสบของเหงือก
การมีฟันคุดจะทำให้ทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง มีเศษอาหารติดค้างจนทำให้เป็นแหล่งสะสมของคราบแบคทีเรีย เกิดการบวมถึงขั้นเป็นหนอง จนทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกได้ การผ่าฟันคุดออกจึงเป็นการป้องกันการอักเสบของเหงือกได้ดี ซึ่งช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาภายหลัง
ช่วยป้องกันปัญหาฟันซ้อนเก
การผ่าฟันคุด จะช่วยป้องกันปัญหาฟันซ้อน ฟันเกได้เป็นอย่างดี เพราะฟันคุดพยายามดันขึ้นมา จนส่งผลทำให้ฟันที่อยู่ข้างเคียงเคลื่อนผิดตำแหน่ง รวมไปถึงรากฟันข้างเคียงถูกทำลาย
ป้องกันปัญหาการเกิดถุงน้ำ รวมไปถึงเนื้องอก
การผ่าฟันคุดจะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาถุงน้ำหรือเนื้องอกได้ ถ้าหากมีการขยายของเนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณรอบๆ ของฟันคุด จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำ ผลร้ายที่ตามมาก็คือ ถุงน้ำจะเข้ามาทำลายฟันที่อยู่บริเวณใกล้เคียง รวมไปถึงทำลายกระดูกบริเวณรอบๆ ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการเกิดปัญหาเนื้องอกได้ด้วยเช่นเดียวกัน
กรณีจัดฟัน ช่วยทำให้ฟันเคลื่อนตำแหน่งได้ง่าย
สำหรับกรณีจัดฟัน การนำเอาฟันคุดออกจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับการเตรียมตัวจัดฟัน ซึ่งสำหรับการถอนฟันกรามซี่ที่ 3 ออกไป จะเป็นตัวที่ช่วยทำให้ฟันซี่อื่นๆ สามารถเคลื่อนตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการถอยฟันทุกซี่ในช่องปากไปด้านในร่วมกับการใช้หมุดจัดฟัน การที่ไม่มีฟันคุดทำให้มีเนื้อที่ว่างของกระดูกเพียงพอที่จะใช้เคลื่อนฟัน
แน่นอนเลยว่าการผ่าฟันคุดออก จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพช่องปากของทุกคนได้หลายอย่างด้วยกันดังที่กล่าวไปในเบื้องต้น หากใครที่กำลังประสบปัญหาฟันคุดอยู่ ขอแนะนำให้ผ่าออกจะดีกว่าการปล่อยทิ้งไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหามากมายในภายหลัง
ผ่าฟันคุด ที่ไหนดี แตกต่างกันอย่างไร
- สำหรับการผ่าฟันคุดนับว่าเป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่งที่จำเป็นต้องทำการรักษาโดยทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการผ่าฟันคุดโดยเฉพาะ ซึ่งต้องมีประสบการณ์ในการผ่าตัดสูง เพื่อการรักษาจะดำเนินการได้อย่างดีที่สุด
- คลินิกที่ให้บริการต้องให้ความสำคัญกับระบบปลอดเชื้อที่ได้มาตรฐาน เพื่อลดการติดเชื้อของผู้ป่วยหรือทำให้เกิดการติดเชื้อระหว่างบุคคล
- อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ต้องได้มาตรฐาน มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้การผ่าตัดง่ายขึ้นและลดผลกระทบของการผ่าตัดให้มากที่สุด
- สถานที่ตั้งจะต้องเดินทางได้สะดวก เนื่องจากในการผ่าฟันคุดจะต้องมีการเย็บแผล ซึ่งผู้ป่วยต้องเข้ารับบริการต่อเนื่องด้วยการตัดไหม หรือกรณีมีฟันคุดหลายซี่ที่ต้องทำการรักษาหลายครั้ง ทำให้ผู้ช่วยต้องเดินทางมารักษาบ่อยครั้ง
ทางคลินิกมี ทีมทันตแพทย์ ที่เชี่ยวชาญพร้อมให้บริการผ่าฟันคุด หากต้องการปรึกษาเรื่องฟันคุดสามารถทำนัดหมายได้ค่ะ
ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการผ่าฟันคุด
หากใครที่กำลังเตรียมตัวไปผ่าฟันคุด จะมีวิธีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ตามไปดูกันได้เลย
- ต้องแปรงฟัน รวมไปถึงทำความสะอาดบริเวณช่องปากให้พร้อมก่อนเสมอ
- ในวันก่อนที่จะเดินทางไปผ่าฟันคุด จะต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมไปถึงงดสูบบุหรี่ ก่อนไปฝ่าฟันคุด
- ควรรับประทานอาหารให้พออิ่มท้อง ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากหลังผ่าตัดจะมีฤทธิ์ของยาชาหลงเหลืออยู่ ทันตแพทย์จะไม่แนะนำให้ทานอาหารในช่วงนี้เพราะอาจเผลอกัดลิ้นหรือเนื้อเยื่อต่างๆ ในช่องปากโดยไม่รู้ตัว
วิธีดูแลหลังผ่าฟันคุดทำได้ง่ายๆ
วิธีการดูแลรักษาตนเองให้เหมาะสมหลังจากผ่าฟันคุด จะต้องมีวิธีการดูแลตนเองอย่างไรบ้างมาดูพร้อมกัน
- สามารถทำความสะอาดช่องปากด้วยแปรงสีฟันได้ตามปกติเลย แต่จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเพื่อที่จะไม่ให้โดนแผล
- หลังจากวันแรกที่ได้มีการผ่าฟันคุด จะต้องงดการบ้วนปากแรงๆ แต่หลังจากนั้นสามารถใช้น้ำอุ่นผสมเกลือ หรือน้ำยาบ้วนปากบ้วนแบบเบาๆ ได้ หลังมื้ออาหารหรือหลังการแปรงฟัน
- ควรหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสบาดแผล อาทิ ใช้ลิ้นดุนฟัน ไม้จิ้มฟัน เป็นต้น
- ควรสังเกตอาการหลังผ่าตัด หากพบว่ามีอาการผิดปกติ แผลบวมแดง จะต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
- แพทย์จะมีการนัดหลังจากผ่าฟันคุด 7 วันเพื่อไปทำการตัดไหม
- บริเวณแผลฟันคุด 1 – 2 อาทิตย์แรก หากพบลักษณะเนื้อขาวๆ หรือเหลืองเล็กน้อย อาจเป็นเนื้อเหงือกที่สร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นปกติและจะไม่มีอาการใดๆ กรณีที่มีอาการปวดหรือมีของเหลวเหลืองขุ่นคล้ายหนอง ต้องทำการพบทันตแพทย์ทันที
หลังผ่าฟันคุดห้ามทานอะไร?
- หลังจากผ่าฟันคุดห้ามรับประทานอาหารที่มีรสชาติ เผ็ดจัด ร้อนจัด
- ห้ามรับประทานอาหารที่มีความแข็ง เนื่องจากอาหารที่มีความแข็งอาจจะส่งผลกระทบต่อแผลผ่าตัด รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อฟัน
- ห้ามสูบบุหรี่ ยิ่งในช่วง 3 วันแรกสำคัญมากๆ เพราะการสูบบุหรี่จะเป็นสิ่งที่เข้าไปขัดขวางการหายของแผล แล้วจะส่งผลทำให้มีเลือดออกจากแผลมากยิ่งขึ้น
บทสรุปของปัญหา ฟันคุด
คงจะคลายข้อสงสัยกันไปบ้างแล้วเกี่ยวกับปัญหาฟันคุด ซึ่งก็คือฟันที่ไม่สามารถที่จะขึ้นมาได้ตามปกติ โดยเป็นปัญหาช่องปากที่เรียกได้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะสร้างปัญหาความเจ็บปวด รวมไปถึงผลกระทบอื่นๆ ได้ ตั้งแต่การสะสมคราบแบคทีเรีย จนกระทั่งทำให้เหงือกบวม ซึ่งหากปล่อยไว้ก็อาจจะเกิดปัญหาเรื้อรังต่างๆ ตามมา ดังนั้นหากเกิดอาการที่บ่งบอกถึงการเกิดฟันคุด ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษา การผ่าฟันคุดออกจะเป็นการดีที่สุด