- Implant -
รากฟันเทียม ฟันปลอมแบบติดแน่นเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไปโดยที่ไม่มีการทำลายเนื้อฟันที่อยู่ข้างเคียง โดยเป็นรูปแบบการรักษาที่ให้ความสวยงามและใช้งานในการบดเคี้ยวได้ใกล้เคียงฟันธรรมชาติมากที่สุด
สรุปหัวข้อสำคัญ รากฟันเทียม
รากฟันเทียม (Dental Implant) คืออะไร
รากฟันเทียม หรือ รากเทียม (Dental Implant) คือ ฟันปลอมที่ติดแน่นและฝังเข้าไปในกระดูกขากรรไกร รากฟันเทียมจะผสานเข้ากับเนื้อเยื่อในช่องปากได้เป็นอย่างดีเพื่อช่วยทดแทนรากฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปและให้ความรู้สึกและผลลัพธ์ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด เมื่อใส่รากฟันเทียมแล้วจะสามารถใช้งาน อาทิเช่น บดเคี้ยวอาหาร พูดคุย ยิ้มได้อย่างมั่นใจ ซึ่งในปัจจุบันการใส่รากฟันเทียมถือว่าเป็นการใส่ฟันปลอมวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
ส่วนประกอบของรากฟันเทียม
1. รากฟัน (Fixture)
มีลักษณะคล้ายสกรูหรือน๊อตที่ฝังเชื่อมติดกับกระดูกขากรรไกร ทำหน้าที่ทดแทนรากฟัน วัสดุทำจากไทเทเนียม (Titanium) ที่เข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อให้ความแข็งแรง ทนแรงบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปริมาณและคุณภาพของกระดูกรองรับรากฟันเทียม เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การรักษารากฟันเทียมได้สำเร็จ
2. แกนฟัน (Abutment)
อยู่ตรงกลางที่ระหว่างรากฟันและครอบฟัน เปรียบเสมือนโครงสร้างแกนฟันหลัก ทำหน้าที่เป็นตัวยึดรากฟันไทเทเนียมกับครอบฟันให้มั่นคง ทำจากไทเทเนียมหรือเซรามิค
3. ครอบฟัน (Crown)
เป็นส่วนที่เห็นในช่องปาก ผลิตจากเซรามิก, Zirconia, หรือโลหะ ทำรูปร่างและสีให้เสมือนฟันธรรมชาติ และใช้สำหรับบดเคี้ยวอาหาร การเลือกวัสดุขึ้นกับความสวยงามที่ต้องการ รวมถึงความแข็งแรงที่เหมาะสมกับฟันในแต่ละบริเวณ ทันตแพทย์จะทำการวางแผนเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมที่สุด ครอบฟันจะเป็นส่วนที่ทำให้ราคารากฟันเทียมมีราคาสูงขึ้นตามประเภทวัสดุที่เลือกใช้
รากฟันเทียมมีกี่ประเภท
รากฟันเทียมแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทขึ้นอยู่กับสภาพภายในช่องปากความจำเป็นของบุคคล และประสบการณ์ของทันตแพทย์ โดยทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาจะตรวจและประเมินเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะกับแต่ละบุคคล โดยจะประเมินสภาพกระดูกฟัน ประกอบกับการวินิจฉัยผ่าน CT SCAN ในเบื้องต้นก่อน
1. การฝังรากฟันเทียมโดยทั่วไป (Conventional implant)
เป็นการฝังรากฟันเทียมแบบทั่วไปในบริเวณที่มีการถอนฟันมาแล้ว (มากกว่า 3 เดือน) สำหรับการทำฟันรากฟันเทียมประเภทนี้พบว่า มีข้อจำกัดน้อยมาก หากมีการวางแผนการรักษาไว้อย่างดี ซึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย เกิดจากคนไข้บางรายมีปริมาณของกระดูกที่น้อยมากๆ ในบริเวณที่จะทำการฝังรากฟันเทียม ดังนั้นจึงต้องมีการปลูกกระดูกก่อนและคนไข้บางรายอาจมีเหตุให้ปลูกกระดูกไม่ได้ หลังจากฝังรากฟันเทียมจะยังไม่มีส่วนของครอบฟันในช่องปาก ใช้ระยะเวลาให้รากฟันเทียมยึดติดกับกระดูก ประมาณ 3 เดือน จึงเริ่มทำครอบฟันถาวร
2. การฝังรากฟันเทียมทันทีหลังจากทำการถอนฟันธรรมชาติออก (Immediate implant)
เป็นการฝังรากฟันเทียมทันทีหลังจากทำการถอนฟันธรรมชาติออก สำหรับการทำฟันรากฟันเทียมประเภทนี้สามารถช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาการทำได้อย่างมาก ลดการละลายของกระดูก ลดความเสี่ยงในการการเกิดเหงือกร่น โดยตำแหน่งฟันที่เหมาะจะทำด้วยวิธีนี้มักจะเป็นฟันหน้าหรือฟันกรามน้อย ต้องไม่มีพยาธิสภาพ ที่ปลายรากฟันของฟันที่จะถอน และต้องมีปริมาณกระดูกเพียงพอให้รากฟันเทียมยึดอยู่ หลังจากฝังรากฟันเทียมจะยังไม่มีส่วนของครอบฟันในช่องปาก ใช้ระยะเวลาให้รากฟันเทียมยึดติดกับกระดูก ประมาณ 3 เดือน จึงเริ่มทำครอบฟันถาวร
3. การต่อส่วนของครอบฟันทันทีที่ฝังรากฟัน (Immediate loaded implant)
เป็นการต่อส่วนของทันตกรรมประดิษฐ์ เช่น การทำครอบฟันทั้งแบบชั่วคราวหรือแบบถาวรไปที่รากฟันเทียมทันทีที่ทำการฝังรากฟันเทียม สำหรับการทำฟันรากฟันเทียมประเภทนี้พบว่า ลดระยะเวลาของการรักษาลงได้ค่อนข้างมาก ฟันของคนไข้จะมีอยู่ตลอดเวลาและยังคงสวยงาม
รากฟันเทียม เหมาะกับใคร
- บุคคลที่สูญเสียฟันแท้ 1-2 ซี่ หรือหลายๆ ซี่
- บุคคลที่มีปริมาณกระดูกเพียงพอต่อการฝังรากฟันเทียมหรือสามารถผ่าตัดเสริมกระดูกได้
- บุคคลที่มีสุขภาพเนื้อเยื่อและเหงือกที่ดี
- บุคคลที่มีกระดูกขากรรไกรหยุดการเจริญแล้ว
- บุคคลที่ไม่มีภาวะที่ส่งผลต่อการหายของแผลในเนื้อกระดูก
- บุคคลไม่สามารถใช้ฟันเทียมถอดได้
- บุคคลที่ต้องการให้ฟันดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด รวมถึงต้องการยิ้มและเสริมสร้างความมั่นใจ
- บุคคลที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวให้ดีขึ้นหรือมาทดแทนฟันที่เหลืออยู่ซึ่งไม่แข็งแรงและไม่สามารถทำหน้าที่เป็นหลักยึดให้กับฟันเทียมชนิดอื่นๆ
รากฟันเทียม ไม่เหมาะกับใคร
- เด็กที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี เนื่องจากการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
- ในกรณีที่คนไข้ตั้งครรภ์ ควรคลอดบุตรก่อนทำรากฟันเทียม
- บุคคลที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้ โรคมะเร็งที่รับการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณใบหน้าและขากรรไกร โรคปริทันต์อักเสบรุนแรง โรคลูคิเมีย โรคไฮเปอร์ไทรอยด์
- บุคคลที่รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน
- บุคคลที่มีอาการไขข้ออักเสบรุนแรง รวมถึงบุคคลที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ
รากฟันเทียมดียังไง?
- การใช้งานเหมือนฟันธรรมชาติมากกว่าฟันปลอมชนิดอื่นๆ
- ป้องกันฟันล้มหรือฟันเอียงที่เกิดจากการสูญเสียฟัน
- ไม่สูญเสียเนื้อฟันซี่ข้างเคียง
- รักษากระดูกบริเวณที่สูญเสียไปไม่ให้สลายไป
- เสริมสร้างความแข็งแรงและสุขอนามัยในช่องปาก แผลมีขนาดเล็ก เป็นการรักษาที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวด
- มีความสวยงาม ดูเป็นธรรมชาติ เพิ่มความมั่นใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ใช้เวลารักษาไม่นาน เพียง 30 – 40 นาทีต่อซี่
- สามารถใช้งานบดเคี้ยวได้ดี เคี้ยวอาหารได้มีประสิทธิภาพเหมือนฟันธรรมชาติ
- มีอายุการใช้งานยาวนาน คงทน และถาวร
- ทำร่วมกับฟันเทียมแบบถอดได้ ไม่มีปัญหาฟันปลอมขยับระหว่างการสนทนาหรือการรับประทาน
รากฟันเทียม ฝังได้ทุกคน?
รากฟันเทียมเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับการสร้างฟันทดแทนฟันธรรมชาติ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่สามารถทำการฝังรากฟันเทียมได้ เช่น
- ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการผ่าตัด เช่น เบาหวานที่คุมไม่ได้ และผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดบางชนิด
- กระดูกบริเวณที่ฝังไม่เพียงพอ เนื่องมาจากการถอนฟันมาเป็นระยะเวลานาน อาจจะต้องทำการปลูกกระดูกบริเวณที่จะฝังร่วมด้วย
- ผู้ที่รักษาโรคกระดูกพรุน เนื่องจากยาที่ทานอาจทำให้เกิดปัญหาต่อการหายของแผลได้
- ผู้ที่มีปัญหาช่องปาก โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัด คือมีการสูบบุหรี่มากกว่า 1 ซองต่อวันเป็นประจำ ส่งผลให้รากฟันเทียมไม่ยึดติดกับกระดูกได้
- เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากการเจริญเติบโตของขากรรไกรยังไม่เต็มที่
ขั้นตอนการรักษารากฟันเทียม
ขั้นตอนที่ 1
ทันตแพทย์จะตรวจภายในช่องปาก สแกนฟัน หรือพิมพ์ปาก พร้อมทั้งถ่ายภาพ x-ray และ CT Scan ตรวจมวลกระดูก เพื่อให้เห็นลักษณะกระดูกบริเวณที่จะฝังรากฟันเทียม และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับบุคคลนั้นๆ
ขั้นตอนที่ 2
เตรียมตำแหน่งที่จะผ่าตัดรากฟันเทียมให้พร้อม ทันตแพทย์จะปลูกกระดูก (Bone Graft) หากความหนาของกระดูกขากรรไกรบางหรืออ่อนเกินไปที่จะใส่รากฟันเทียม เเละปรับรูปร่างได้เพื่อให้รากฟันเทียมยึดเกาะกับกระดูกได้ดี ฝังรากฟันเทียมลงบนกระดูกขากรรไกร รอให้กระดูกยึดกับรากฟันเทียมประมาณ 3 – 4 เดือน ระหว่างที่รอสามารถใส่ฟันปลอมชั่วคราวได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทันตแพทย์และความต้องการของคนไข้
ขั้นตอนที่ 3
หลังจากฝังรากฟันเทียม 3 – 4 เดือน ทันตแพทย์จะทำการนัดพิมพ์ปากและส่งให้ LAB ทันตกรรม เพื่อทำครอบฟัน (Crown) หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะทำการนัดเพื่อติดครอบฟัน ใส่ครอบบนรากฟันเทียม ซึ่งครอบบนรากฟันเทียมจะมีสีธรรมชาติใกล้เคียงฟันซี่ข้างเคียง
ขั้นตอนที่ 4
ทันตแพทย์ติดตั้งครอบฟัน เมื่อตรวจสอบเเล้วว่ารากฟันเทียม
ที่ผ่าตัดฝังเข้ากันกับกระดูกรอบข้างได้เรียบร้อย ทันตแพทย์จะติดตั้งโครงสร้างแกนกลาง (Abutment) เเละสวมครอบฟันติดเข้าไปที่แกนฟันเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
คำแนะนำหลังการเข้ารับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม
- ภายหลังการผ่าตัด (ประมาณ 1-3 วัน) ควรรับประทานอาหารชนิดเหลวเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงเศษอาหารติดฟันและการก่อให้เกิดการระคายเคืองแก่บาดแผล หลังจากนั้นควรรับประทานอาหารอ่อนๆ หรือเคี้ยวง่ายๆ ประมาณ 1 สัปดาห์
- ภายหลังการผ่าตัด อาการบวมเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้หากมีอาการบวมมากผิดปกติหรืออาการเลือดไหลไม่หยุด ให้รีบติดต่อทันตแพทย์ทันที
- ห้ามรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดภายในวันแรกหลังการผ่าตัด
- ควรใช้น้ำยาบ้วนปากแบบฆ่าเชื้ออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (ตอนเช้าและก่อนนอน) ใช้ติดต่อกันจนหมด
- หลีกเลี่ยงการบดเคี้ยวหรือการรับแรงกระแทกบริเวณที่ปลูกรากฟันเทียมในช่วงการรักษาแผล
- ควรนอนและหนุนหมอนสูงในช่วงระยะแรกหลังการผ่าตัด เพื่อช่วยลดอาการบวมที่อาจเกิดขึ้นได้
- ไม่ควรสวมใส่ฟันปลอมเก่าจนกว่าจะได้รับการแก้ไขจากทันตแพทย์ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อบริเวณแผลและการล่าช้าในการสมานของแผลได้
อาการที่อาจเกิดขึ้นได้ : หลังการผ่าตัดปลูกรากฟันเทียม อาจพบอาการบวมบริเวณเหงือกและใบหน้า ฟกช้ำบริเวณผิวหนังและเหงือก ปวดแผลผ่าตัด แผลผ่าตัดอาจมีเลือดซึมเล็กน้อย
การดูแลรักษา รากฟันเทียม
- ควรใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 – 2 ครั้ง และควรใช้แปรงซอกฟันในการทำความสะอาดซอกฟันเพื่อป้องกันคราบแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเหงือกและปัญหาในช่องปากต่างๆ
- ควรบ้วนปากด้วยน้ำยาที่ผสมสารฟลูออไรด์โดยกลั้วปากนานอย่างน้อย 1 นาทีก่อนเข้านอน
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การเคี้ยวอาหารที่มีความแข็ง (น้ำแข็งหรือกระดูกอ่อน) ซึ่งสามารถทำให้ครอบฟันแตกหัก
- พบทันตแพทย์เป็นประจำสม่ำเสมอเพื่อตรวจฟันและสภาพของรากฟันเทียม
"ใส่ทดแทนฟันธรรมชาติแบบถาวร"
สรุปการทำรากฟันเทียม
ค่าใช้จ่ายรากฟันเทียม ในแบรนด์ต่างๆ
Q&A คำถามที่พบบ่อยๆ เกี่ยวกับการทำ รากฟันเทียม
ใส่รากฟันเทียมเจ็บมั้ย
ขณะผ่าตัดจะไม่รู้สึกเจ็บ เนื่องจากทันตแพทย์จะให้ยาชาในเบื้องต้นก่อนการฝังรากฟันเทียมในกระดูกขากรรไกร ซึ่งในกระดูกไม่มีเส้นประสาทจะไม่ได้รับความเจ็บปวดอยู่เเล้ว อาจจะรู้สึกได้ถึงการสั่นสะเทือนจากการใส่เครื่องมือ โดยภายหลังในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัดอาจมีอาการปวดเล็กน้อย ซึ่งทันตแพทย์จะให้ยาแก้ปวด
เพื่อบรรเทาอาการ
ใช้เวลาในการใส่รากฟันเทียมนานหรือไม่
ในขั้นตอนการผ่าตัดรากฟันเทียม ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง (ถ้าไม่มีการผ่าตัดอื่นๆ ร่วมด้วย) โดยหลังผ่าตัดต้องพักฟื้น 3 – 4 เดือน เพื่อให้รากฟันยึดติดกับกระดูกเรียบร้อยดี ก่อนเตรียมใส่ครอบฟันต่อไป
ฝังรากฟันเทียมแล้วใช้งานได้เลยหรือไม่
ในวันที่ฝังรากเทียม (แบบทั่วไป) จะยังไม่มีการทำครอบฟันใส่ให้ใช้งาน เนื่องจากต้องรอให้รากฟันเทียมมีการยึดติดที่ดีกับกระดูกก่อน โดยทั่วไปใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จึงนัดคนไข้มาทำการสแกนฟันเพื่อทำครอบฟันต่อไป
ทำรากฟันเทียมคุ้มค่ากับการใช้งานหรือไม่
รากฟันเทียมจะมีราคาค่อนข้างสูง เเต่มีความทนทานและคุ้มค่าการใช้งานมาก โดยการใช้งานมีอายุยาวนาน 10 – 20 ปีขึ้นไป ซึ่งถ้าดูเเลรักษาให้ดีสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต
ครอบฟันบนรากฟันเทียมมีกี่ประเภท
การเลือกชนิดของครอบฟันขึ้นกับหลายปัจจัย ในบริเวณฟันหน้าจะเน้นที่ความสวยงาม มักจะเลือกวัสดุที่เป็นสีเหมือนฟัน เช่น Ceramic หรือ Zirconia หากเป็นฟันหลังอาจเน้นในเรื่องความแข็งแรงในการใช้งานเป็นหลัก อาจเลือกชนิดที่เป็นโลหะหรือ Monolithic Zirconia การเลือกชนิดของครอบฟันทันตแพทย์จะช่วยวางแผนแนะนำให้ครับ
ใส่รากฟันเทียมจัดฟันได้หรือไม่
คนไข้ที่ใส่รากฟันเทียมต้องการจัดฟันในภายหลัง ถ้าฟันซี่นั้นใส่รากฟันเทียมมาเเล้ว จะไม่สามารถ
จัดฟันได้ เนื่องจากรากฟันเทียมไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ แต่ถ้าสามารถทำการเคลื่อนฟันซี่อื่นๆ ในช่องปากได้โดยไม่รบกวนตำแหน่งของฟันที่เป็นรากฟันเทียม การจัดฟันที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ที่มีรากฟันเทียม คือ การจัดฟันแบบใส ซึ่งสามารถเคลื่อนฟันเฉพาะตำแหน่งและกำหนดตำแหน่งการเคลื่อนฟันล่วงหน้าได้
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีอะไรอีกบ้าง
ในราคาของการทำรากเทียมจะมีการรวมส่วนของครอบฟันให้แล้ว กรณีที่ต้องใช้วัสดุพิเศษอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือกรณีที่กระดูกของคนไข้ไม่เพียงพอต่อการฝังรากฟันเทียมอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมซึ่งขึ้นกับชนิดและปริมาณของกระดูกที่ใช้
หลังฝังรากฟันเทียม ต้องพักฟื้นนานมั้ย
โดยทั่วไปการผ่าตัดฝังรากเทียมเป็นการผ่าตัดแบบเล็กมาก มักไม่มีอาการหรือมีอาการปวดเล็กน้อย คนไข้ควรทำการประคบเย็นบริเวณที่ผ่าตัดประมาณ 2 วันแรกหลังผ่าตัด หลังจากนั้นถ้าเป็นไปได้ให้ทำการประคบอุ่น นอกจากนี้ควรทานยาปฏิชีวนะให้ครบโดสและทานยาแก้ปวดได้หากมีอาการปวด